Assoc. Prof. Dr. Tepmanas Bupha-Intr, D.V.M.​

E-mail: tepmanas.bup@mahidol.ac.th, (66)-2201-5506

Education

Research Interests

1. UN SDG ที่เกี่ยวข้อง : SDG 3 (Good Health and Well-Being) สรุปผลงานวิจัยเรื่อง : การเปรียบเทียบผลของการออกกำลังกายและการใช้เอสโตรเจนทดแทนต่อการเป็นพิษต่อหัวใจที่เป็นผลจากการใช้ยาด็อกโซรูบิซิน โดยเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงการทำงานของแมสเซลล์ สรุปโดย : รองศาสตราจารย์ ดร. เทพมนัส บุปผาอินทร์ : ภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล การเผยแพร่ : Phungphong S, Kijtawornrat A, Kampaengsri T, Wattanapermpool J, Bupha-Intr T*. Comparison of exercise training and estrogen supplementation on mast cell-mediated doxorubicin-induced cardiotoxicity. Am J Physiol Regul Integr Comp Physiol 2020 May;318(5):R829-R42. ด็อกโซรูบิซิน (Doxorubicin) เป็นยาเคมีบำบัดที่นำมาใช้ในการรักษามะเร็งหลากหลายชนิด และพบผลข้างเคียงที่รุนแรงต่อการทำงานของหัวใจ การหาวิธีการป้องกันภาวการณ์ทำงานของหัวใจที่ผิดปกติในผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงมีความสำคัญ การออกกำลังกายและการให้ฮอร์โมนเพศหญิงทดแทน เป็นวิธีการที่พบก่อนหน้านี้แล้วว่าสามารถช่วยการทำงานของหัวใจได้ อย่างไรก็ตามผลของการออกกำลังกายเป็นประจำและการให้ฮอร์โมนเพศหญิงทดแทนต่อการทำงานของหัวใจในผู้ป่วยกลุ่มนี้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด จึงนำมาสู่คำถามวิจัย ได้แก่ 1) ฮอร์โมนเพศหญิงปกป้องการทำงานของหัวใจภายใต้ภาวะความเป็นพิษของด็อกโซรูบิซินต่อหัวใจได้หรือไม่ อย่างไร 2) การออกกำลังกายเป็นประจำป้องการทำงานของหัวใจภายใต้ภาวะความเป็นพิษของด็อกโซรูบิซินต่อหัวใจได้หรือไม่ อย่างไร กลุ่มงานวิจัยสรีรวิทยาทางหัวใจและหลอดเลือด ภาควิชาสรีรวิทยา ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยเพื่อศึกษาเปรียบเทียบผลของการออกกำลังกายและการให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทนภายใต้ภาวะความเป็นพิษของด็อกโซรูบิซินต่อหัวใจ โดยเน้นศึกษาการทำงานของแมสเซลล์ (Mast cells) ในหัวใจซึ่งเป็นเซลล์สำคัญในกระบวนการอักเสบ ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า การให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทนสามารถลดผลกระทบของ Doxorubicin ต่อการทำงานที่ผิดปกติของหัวใจในหนูที่ตัดรังไข่ได้มีประสิทธิภาพมากกว่าการออกกำลังกายเป็นประจำ โดยฮอร์โมนเอสโตรเจนสามารถช่วยรักษาเสถียรภาพการทำงานของแมสเซลล์ และลดกระบวนการอักเสบในหัวใจได้

2. UN SDG ที่เกี่ยวข้อง : SDG 3 (Good Health and Well-Being) สรุปผลงานวิจัยเรื่อง : การเพิ่มความสามารถในการทำงานของหัวใจหนูที่มีการตัดรังไข่ (Ovariectomy) โดยสารต้านอนุมูลอิสระ Tempol สรุปโดย : รองศาสตราจารย์ ดร. เทพมนัส บุปผาอินทร์ : ภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล การเผยแพร่ : Phungphong S, Kijtawornrat A, Wattanapermpool J, Bupha-Intr T*. Improvement in cardiac function of ovariectomized rats by antioxidant tempol. Free Radic Biol Med 2020 Nov;160:239-45. สตรีเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน (อายุเฉลี่ย 45-55 ปี) จะมีการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของร่างกายในระบบต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำงานของหัวใจและหลอดเลือดที่ผิดปกติ ปัจจุบันการรักษาด้วยการใช้ฮอร์โมนทดแทนแม้จะสามารถลดอาการไม่พึงประสงค์ได้ แต่ผลข้างเคียงของการใช้ฮอร์โมนทดแทนเป็นเวลานานกลับเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมหรือนิ่วในถุงน้ำดี ฯลฯ เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ดังนั้นจึงเป็นที่น่าสนใจว่า การขาดสารต้านอนุมูลอิสระอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้หัวใจและหลอดเลือดมีการทำงานที่ผิดปกติในสตรีวัยหมดประจำเดือน กลุ่มงานวิจัยสรีรวิทยาทางหัวใจและหลอดเลือด ภาควิชาสรีรวิทยา ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยเพื่อศึกษาผลของสารต้านอนุมูลอิสระต่อการทำงานของหัวใจในสตรีวัยหมดประจำเดือน โดยการวัดการทำงานของหัวใจในหนูที่ตัดรังไข่ภายหลังได้รับสารต้านอนุมูลอิสระเป็นเวลา 9 สัปดาห์ ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า 1) การขาดฮอร์โมนเพศหญิงเพิ่มระดับอนุมูลอิสระในเส้นใยกล้ามเนื้อของหัวใจ 2) สารต้านอนุมูลอิสระสามารถฟื้นฟูการทำงานของหัวใจในหนูที่ตัดรังไข่ โดยส่งผลต่อการเพิ่มความสามารถในการหดตัวของทั้งกล้ามเนื้อและเซลล์หัวใจ และสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการกับแคลเซียมในหัวใจได้ด้วย

3. UN SDG ที่เกี่ยวข้อง : SDG 3 (Good Health and Well-Being) สรุปผลงานวิจัยเรื่อง : ผลของการออกกำลังกายต่อการเปลี่ยนแปลงการทำงานของแมสเซลล์ในหัวใจหนูที่มีการตัดรังไข่ สรุปโดย : รองศาสตราจารย์ ดร. เทพมนัส บุปผาอินทร์ : ภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล การเผยแพร่ : Phungphong S, Kijtawornrat A, Wattanapermpool J, Bupha-Intr T*. Regular exercise modulates cardiac mast cell activation in ovariectomized rats. J Physiol Sci. 2016;66(2):165-73. สตรีเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน เป็นช่วงวัยที่ร่างกายมีการสร้างฮอร์โมนเพศหญิงลดลงอย่างมาก พบว่าการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจลดลงและมีความเสี่ยงต่อภาวะโรคหัวใจล้มเหลวมากขึ้น มีการศึกษาผลกระทบดังกล่าวอย่างกว้างขวางรวมทั้งศึกษาวิธีการป้องกันต่างๆ แต่ยังไม่พบบทสรุปที่ดีและปลอดภัยที่สุด การใช้ฮอร์โมนเพศหญิงทดแทนและการออกกำลังกายมีการศึกษาแล้วว่าช่วยส่งเสริมการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจในภาวะขาดฮอร์โมนเพศหญิง อย่างไรก็ตามกลไกของผลดังกล่าวยังไม่เป็นที่แน่ชัดโดยเฉพาะกลไกที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันในหัวใจ ผู้วิจัยจึงได้ทำการศึกษาการทำงานของเซลล์ภูมิคุ้มกันชนิดแมสเซลล์ (mast cells) ในหัวใจในภาวะต่างๆ ได้แก่ ภาวะการลดลงของฮอร์โมนเพศหญิงทั้งในภาวะที่มีการให้ฮอร์โมนทดแทนและการออกกำลังกายเป็นประจำ โดยใช้หนูขาวเป็นตัวแบบ ซึ่งจากการศึกษาพบว่า 1) การลดลงของฮอร์โมนเพศหญิงมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเสถียรภาพของแมสเซลล์ในหัวใจ โดยมีการเพิ่มจำนวนและถูกกระตุ้นมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สัมพันธ์กับการที่หัวใจมีประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลง 2) การใช้ฮอร์โมนเพศหญิงทดแทนหรือการออกกำลังกายเป็นประจำช่วยรักษาเสถียรภาพของแมสเซลล์ให้เป็นปกติได้โดยการป้องกันไม่ให้มีการถูกกระตุ้นที่มากเกินไป สอดคล้องกับการทำงานของหัวใจที่ดีขึ้น ซึ่งผลการศึกษาในครั้งนี้สนับสนุนให้สตรีวัยหมดประจำเดือนได้ออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อเป็นการป้องกันการทำงานที่ผิดปกติของหัวใจ

4. UN SDG ที่เกี่ยวข้อง : SDG 3 (Good Health and Well-Being) สรุปผลงานวิจัยเรื่อง : บทบาทของแมสเซลล์ต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของหัวใจจากการออกกำลังกาย ในหนูตัดรังไข่ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงที่เหนี่ยวนำโดยแองจิโอเทนซิน 2 สรุปโดย : รองศาสตราจารย์ ดร. เทพมนัส บุปผาอินทร์ : ภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล การเผยแพร่ : Jitmana R, Raksapharm S, Kijtawornrat A, Saengsirisuwan V, Bupha-Intr T*. Role of cardiac mast cells in exercise training-mediated cardiac remodeling in angiotensin II-infused ovariectomized rats. Life Sci. 2019;219:209-18. สตรีเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนจะมีการลดลงของฮอร์โมนเพศหญิง เหนี่ยวนำให้การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจจะมีประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลง นอกจากนี้ยังพบอีกว่าหากมีภาวะผิดปกติอื่นอื่นร่วมด้วย เช่น ความดันโลหิตสูง ก็ยิ่งทำให้เพิ่มโอกาสในการเกิดภาวะหัวใจห้องล่างซ้ายโตและภาวะกล้ามเนื้อหัวใจล้มเหลว ดังนั้นสตรีวัยหมดประจำเดือนที่มีภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวจำเป้นต้องมีการดูแลเป็นพิเศษ โดยเป็นที่รู้อยู่แล้วว่าการออกกำลังเป็นประจำเป็นวิธีการที่ช่วยส่งเสริมการทำงานของหัวใจได้ทั้งในสตรีวัยหมดประจำเดือน และผู้มีความดันโลหิตสูง อย่างไรก็ตามกลไกการป้องกันความผิดปกติด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำไม่เป็นที่แน่ชัด โดยก่อนหน้านี้ผู้วิจัยพบว่า การออกกำลังกายเป็นประจำช่วยป้องกันการทำงานที่ผิดปกติของหัวใจในหนูขาวที่มีการลดลงของฮอร์โมนเพศหญิงโดยการตัดรังไข่ผ่านการควบคุมเสถียรภาพการทำงานของแมสเซลล์ (mast cells) ดังนั้นในการศึกษานี้ผู้วิจัยได้ทำการศึกษาผลของการออกกำลังกายต่อการทำงานของแมสเซลล์ในหัวใจหนูขาวที่ขาดฮอร์โมนเพศหญิงและมีภาวะความดันโลหิตสูงร่วมด้วย ผลการศึกษาพบว่าการออกกำลังกายเป็นประจำสามารถช่วยป้องกันการทำงานที่มากเกินไปของแมสเซลล์ในหัวใจหนูที่ขาดฮอร์โมนเพศหญิงร่วมกับภาวะความดันโลหิตสูงได้ ผลการศึกษาสนับสนุนให้สตรีวัยหมดประจำเดือนและมีภาวะความดันโลหิตสูงได้ออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อเป็นการป้องกันการทำงานที่ผิดปกติของหัวใจ

5. UN SDG ที่เกี่ยวข้อง : SDG 3 (Good Health and Well-Being) สรุปผลงานวิจัยเรื่อง : ฤทธิ์ของ 20-hydroxyecdysone ในการยับยั้งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของหัวใจหนูที่มีภาวะความดันโลหิตสูง สรุปโดย : รองศาสตราจารย์ ดร. เทพมนัส บุปผาอินทร์ : ภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล การเผยแพร่ : Phungphong S, Kijtawornrat A, Chaiduang S, Saengsirisuwan V, Bupha-Intr T*. 20-Hydroxyecdysone attenuates cardiac remodeling in spontaneously hypertensive rats. Steroids. 2017;126:79-84. ความดันโลหิตสูงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวและเสียชีวิต กลไกการเกิดโรคและวิธีการป้องกันรักษาได้มีการศึกษากันอย่างแพร่หลาย ฮอร์โมนเพศหญิงเป็นอีกหนึ่งสารในร่างกายที่มีบทบาทในการช่วยลดความดันโลหิต อย่างไรก็ตามการใช้ฮอร์โมนเพศหญิงทดแทนมีผลไม่พึงประสงค์หลายอย่าง เช่น เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีและมะเร็งเต้านม ผู้วิจัยจึงได้มีการศึกษาสารทดแทนอื่น ได้แก่ สาร 20-hydroxyecdysone ซึ่งเป็นสารสเตียรอยด์ที่พบได้ในพืชและแมลงชนิดต่าง ๆ โดยก่อนหน้านี้มีการศึกษาพบว่า สาร 20-hydroxyecdysone มีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเพศหญิงในการควบคุมการเปลี่ยนแปลงของกระดูกในสัตว์ทดลองที่มีการตัดรังไข่ ดังนั้น ผู้วิจัยจึงได้มีสมมติฐานว่า สาร 20-hydroxyecdysone จะมีฤทธิ์ในการช่วยลดความดันโลหิตเช่นที่พบฤทธิ์ดังกล่าวในฮอร์โมนเพศหญิง จากการศึกษาในหนูขาวที่มีความดันโลหิตสูงก็พบว่า การได้รับสาร 20-hydroxyecdysone อย่างต่อเนื่องช่วยลดความดันโลหิตได้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ยังพบผลที่ช่วยในการลดขนาดของเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจที่มีการโตจากการเหนี่ยวนำของภาวะความดันโลหิตสูงได้ จากผลการทดลองนี้สรุปได้ว่า สาร 20-hydroxyecdysone มีความเป็นไปได้ที่จะนำมาศึกษาต่อยอดเพื่อใช้ในการช่วยลดภาวะความดันโลหิตสูงและป้องกันการเกิดความผิดปกติของหัวใจต่อไป

6. UN SDG ที่เกี่ยวข้อง : SDG 3 (Good Health and Well-Being) สรุปผลงานวิจัยเรื่อง : ผลของ alpha-mangostin ในการยับยั้งแบบเฉียบพลันต่อโปรตีนขนส่ง sarcoplasmic reticulum calcium-ATPase และการคลายตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ สรุปโดย : รองศาสตราจารย์ ดร. เทพมนัส บุปผาอินทร์ : ภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล การเผยแพร่ : Phungphong S, Kijtawornrat A, de Tombe PP, Wattanapermpool J, Bupha-Intr T*, Suksamrarn S. Acute inhibitory effect of alpha-mangostin on sarcoplasmic reticulum calcium-ATPase and myocardial relaxation. J Biochem Mol Toxicol. 2017;31(10). สาร alpha-mangostin เป็นสารหลักที่ได้จากการสกัดจากเปลือกมังคุด ซึ่งมีคุณสมบัติที่สำคัญคือ ต้านอนุมูลอิสระและลดการอักเสบ นอกจากนี้ยังมีการรายงานผลในเรื่องของฤทธิ์ในการต้านมะเร็งชนิดต่าง ๆ อย่างไรก็ตามผลของสารดังกล่าวนี้ต่อการทำงานของหัวใจยังไม่ได้มีการศึกษาอย่างแน่ชัด มีการศึกษาก่อนหน้าที่รายงานว่า alpha-mangostin รบกวนสมดุลของแคลเซียมในเซลล์กล้ามเนื้อลายโดยการลดประสิทธิภาพการทำงานของโปรตีนขนส่งบนเยื่อหุ้ม sarcoplasmic reticulum (SR) เนื่องจากกลไกการควบคุมสมดุลของแคลเซียมในเซลล์กล้ามเนื้อลายและกล้ามเนื้อหัวใจมีความคล้ายกัน จึงนำมาสู่คำถามวิจัยว่า สาร alpha-mangostin อาจมีฤทธิ์ในการยับยั้งการควบคุมการขนส่งแคลเซียมในเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจเช่นเดียวกัน ผลการศึกษาพบว่า สาร alpha-mangostin มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของโปรตีนขนส่งดังกล่าว จากผลดังกล่าวก็ทำให้การขนส่งแคลเซียมกลับเข้าสู่ SR ลดลง ซึ่งพบว่าสารนี้ทำให้การคลายตัวของเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจมีอัตราที่ช้าลงด้วย ผลการศึกษาในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า การนำสาร alpha-mangostin ไปใช้ในการรักษาโรคต่างๆ ควรให้ความสำคัญต่อผลที่อาจมีต่อการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจด้วย