ผลงานวิจัยของกลุ่มวิจัยสรีรวิทยาของหัวใจและหลอดเลือด

ด็อกโซรูบิซิน (Doxorubicin) เป็นยาเคมีบำบัดที่นำมาใช้ในการรักษามะเร็งหลากหลายชนิด และพบผลข้างเคียงที่รุนแรงต่อการทำงานของหัวใจ
.
การหาวิธีการป้องกันภาวการณ์ทำงานของหัวใจที่ผิดปกติในผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงมีความสำคัญ การออกกำลังกายและการให้ฮอร์โมนเพศหญิงทดแทน เป็นวิธีการที่พบก่อนหน้านี้แล้วว่าสามารถช่วยการทำงานของหัวใจได้
.
อย่างไรก็ตามผลของการออกกำลังกายเป็นประจำและการให้ฮอร์โมนเพศหญิงทดแทนต่อการทำงานของหัวใจในผู้ป่วยกลุ่มนี้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด จึงนำมาสู่คำถามวิจัย ได้แก่ 1) ฮอร์โมนเพศหญิงปกป้องการทำงานของหัวใจภายใต้ภาวะความเป็นพิษของด็อกโซรูบิซินต่อหัวใจได้หรือไม่ อย่างไร 2) การออกกำลังกายเป็นประจำป้องการทำงานของหัวใจภายใต้ภาวะความเป็นพิษของด็อกโซรูบิซินต่อหัวใจได้หรือไม่ อย่างไร
.
กลุ่มงานวิจัยสรีรวิทยาทางหัวใจและหลอดเลือด ภาควิชาสรีรวิทยา ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยเพื่อศึกษาเปรียบเทียบผลของการออกกำลังกายและการให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทนภายใต้ภาวะความเป็นพิษของด็อกโซรูบิซินต่อหัวใจ โดยเน้นศึกษาการทำงานของแมสเซลล์ในหัวใจซึ่งเป็นเซลล์สำคัญในกระบวนการอักเสบ
.
ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า: การให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทนสามารถลดผลกระทบของ Doxorubicin ต่อการทำงานที่ผิดปกติของหัวใจในหนูที่ตัดรังไข่ได้มีประสิทธิภาพมากกว่าการออกกำลังกายเป็นประจำ โดยฮอร์โมนเอสโตรเจนสามารถช่วยรักษาเสถียรภาพการทำงานของแมสเซลล์ และลดกระบวนการอักเสบในหัวใจได้