Assoc. Prof. Dr. Ratchakrit Srikuea

E-mail: ratchakrit.sri@mahidol.ac.th, (66)-2201-5518

Education

Research Interests

Scholarship and Award

1. The Excellent Oral Presentation Award from Commission in Higher Education Congress V: University Staff Development Consortium, Thailand, 2012

2. BioLASCO Thailand Young Scientist Award from Secreteriat Office of National Committee for Research Animal Development, National Research Council of Thailand, 2011

.....​

1. UN SDG ที่เกี่ยวข้อง: SDG 3 (Good Health and Well-Being) ผลงานวิจัยเรื่อง Regulation of vitamin D system in skeletal muscle and resident myogenic stem cell during development, maturation, and ageing. Sci Rep. 2020;10:8239. ผู้แต่ง Srikuea R*, Hirunsai M, Charoenphandhu N สรุปโดย ผศ.ดร.รัชกฤต ศรีเกื้อ ภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล: ปัจจุบันมีงานวิจัยที่ศึกษาบทบาทใหม่ของวิตามินดีในด้านที่ไม่เกี่ยวข้องกับการควบคุมสมดุลแคลเซียม (non-calcemic action) ดังเช่นงานวิจัยเรื่องนี้ที่แสดงให้เห็นถึงระบบการทำงานของวิตามินดีที่ระดับเนื้อเยื่อและเซลล์ต้นกำเนิดของกล้ามเนื้อลายในช่วงพัฒนาการ เจริญเต็มวัย และระยะเริ่มต้นของการชราภาพ โดยใช้กล้ามเนื้อลายของหนูเม้าส์ที่มีคุณสมบัติด้านการเจริญเติบโตที่เปรียบเทียบได้กับมนุษย์ในการศึกษา ผลการศึกษาวิจัยพบว่ากล้ามเนื้อลายมีกระบวนการเมแทบอลิซึมของวิตามินดีอย่างจำเพาะ ขณะที่การเพิ่มขึ้นของตัวรับสัญญาณการทำงานของวิตามินดี (vitamin D receptor) อย่างมีนัยสำคัญในระยะเริ่มต้นของการชราภาพเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเจริญเต็มวัยไม่ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของระดับวิตามินดี [25(OH)D] และแคลเซียมในเลือด แต่มีความเกี่ยวข้องกับการลดลงของวิถีสัญญาณการสร้างโปรตีน (mTOR signaling) และระดับการทำงานของเซลล์ต้นกำเนิดของกล้ามเนื้อลาย นอกจากนี้การตอบสนองของเซลล์ต้นกำเนิดกล้ามเนื้อลายต่อ active form ของวิตามินดี 3 (calcitriol) ในหลอดทดลองมีค่าลดลงเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ผลดังกล่าวเกี่ยวข้องโดยตรงกับคุณลักษณะการเจริญเติบโตของเซลล์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการทำงานของวิตามินดีในระดับเนื้อเยื่อและเซลล์ต้นกำเนิดกล้ามเนื้อลายนี้จะสามารถนำไปสู่การพัฒนาแนวทางการนำวิตามินดีมาใช้เพื่อป้องกันการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อขณะเริ่มเข้าสู่ภาวะชราภาพได้อย่างเหมาะสมต่อไป

2. UN SDG ที่เกี่ยวข้อง: SDG 3 (Good Health and Well-Being) ผลงานวิจัยเรื่อง Autophagy-lysosomal signaling responses to heat stress in tenotomy-induced rat skeletal muscle atrophy. Life Sci. 2021:119352. ผู้แต่ง Hirunsai M* and Srikuea R สรุปผลงานวิจัยโดย ผศ.ดร.รัชกฤต ศรีเกื้อ ภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล: การศึกษาในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงองค์ความรู้เกี่ยวกับผลของการได้รับความร้อนต่อการฟื้นฟูสภาวะฝ่อลีบของกล้ามเนื้อผ่านการควบคุมการทำงานของระบบการทำลายออร์แกเนลล์ภายในเซลล์ที่หมดอายุหรือเสื่อมสภาพ (autophagy-lysosomal system) ผลของการรักษาด้วยการได้รับความร้อนถูกศึกษาในสภาวะที่กล้ามเนื้อบริเวณขาหลังของหนูทดลองเกิดสภาวะฝ่อลีบจากความเสียหายที่บริเวณเอ็นร้อยหวาย (Achilles tendon) เปรียบเทียบผลกับสภาวะที่ไม่ได้รับความร้อนและกลุ่มควบคุมที่ไม่มีสภาวะกล้ามเนื้อฝ่อลีบ โดยความร้อนที่กล้ามเนื้อได้รับมีอุณหภูมิที่ 40.5-41.5°C ครั้งละ 30 นาที เป็นเวลา 7 วัน ผลการศึกษาพบว่าการได้รับความร้อนสามารถเร่งการฟื้นฟูสภาพและเพิ่มมวลกล้ามเนื้อผ่านการลดการกระตุ้นการทำงานที่มากเกินไปของ autophagy-lysosomal system ได้อย่างมีนัยสำคัญในกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่หลักในการทรงตัวและการเคลื่อนไหวดังนั้นการได้รับความร้อนจึงถือเป็นวิธีการหนึ่งที่มีประสิทธิภาพและสามารถใช้ในการรักษาสภาวะฝ่อลีบของกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นจากการไม่ได้ใช้งานเป็นระยะเวลานานเนื่องจากการบาดเจ็บบริเวณเอ็นร้อยหวาย

3. ผลงานวิจัยเรื่อง A single bout of high-intensity exercise modulates the expression of vitamin D receptor and vitamin D-metabolising enzymes in horse skeletal muscle. Equine Vet J. 2021;53(4):796-805 ผู้แต่ง Puangthong C, Sukhong P, Saengnual P, Srikuea R*, and Chanda M*. สรุปผลงานวิจัยโดย ผศ.ดร.รัชกฤต ศรีเกื้อ ภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล: การแสดงออกของตัวรับสัญญาณวิตามินดีและเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับเมแทบอลึซึมของวิตามินดีได้มีการรายงานว่ามีบทบาทสำคัญในกล้ามเนื้อลาย โดยการวิจัยในครั้งนี้ได้ศึกษาผลของการออกกำลังกายที่ความหนักระดับสูงต่อระบบการทำงานของวิตามินดีและเซลล์ต้นกำเนิดของกล้ามเนื้อลายในกล้ามเนื้อม้ารวมถึงความสัมพันธ์กับระดับ 25(OH)D ในเลือด ผลการวิจัยพบว่าการออกกำลังกายที่ความหนักระดับสูงสามารถกระตุ้นการทำงานของเซลล์ต้นกำเนิดของกล้ามเนื้อลายและเพิ่มการแสดงออกของตัวรับสัญญาณการทำงานของวิตามินดีเพื่อตอบสนองต่อการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อลายในม้า รวมถึงส่งผลต่อการลดลงของโปรตีนในกล้ามเนื้อม้าที่มีบทบาทเกี่ยวกับการเปลี่ยนวิตามินดีให้อยู่ในรูปแอคทีฟฟอร์มและระดับ 25(OH)D2 ในเลือด ซึ่งบ่งชี้ถึงผลกระทบต่อกระบวนการเมแทบอลึซึมของวิตามินดีภายหลังจากการออกกำลังกายที่ความหนักระดับสูงในม้า ดังนั้นการให้วิตามินดีเสริมภายหลังการแข่งขันในม้ากีฬาจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อรักษาระดับวิตามินดีในเลือดที่อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการฟื้นฟูสภาพกล้ามเนื้อลายของม้าภายหลังการบาดเจ็บที่เกิดจากการออกกำลังกายอย่างหนัก

4. UN SDG ที่เกี่ยวข้อง: SDG3 (Good health and well-being) ผลงานวิจัยเรื่อง TGF-Beta1 stimulation and VDR-dependent activation modulate calcitriol action on skeletal muscle fibroblasts and Smad signalling-associated fibrogenesis. Sci Rep. 2023;13:13811. ผู้แต่ง Srikuea R* and Hirunsai M สรุปผลงานวิจัยโดย รศ.ดร. รัชกฤต ศรีเกื้อ ภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล: การศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับผลของวิตามินดี 3 ในรูปแอคทีฟฟอร์ม (calcitriol) ที่สามารถยับยั้งกระบวนการสร้างเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของเซลล์ปฐมภูมิชนิดไฟโบรบลาสต์ของกล้ามเนื้อลายซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการเกิดพังผืดภายหลังการบาดเจ็บ โดยโปรตีนที่กระตุ้นวิถีสัญญาณการเกิดพังผืด (TGF-Beta1) และระดับการแสดงออกของตัวรับสัญญาณการทำงานของวิตามินดี (vitamin D receptor, VDR) ภายในเซลล์เป็นปัจจัยที่สามารถส่งผลต่อการทำงานของวิตามินดี 3 ในรูปแอคทีฟฟอร์มด้านการยับยั้งกระบวนการสร้างเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่ก่อให้เกิดพังผืดได้โดยตรง ดังนั้นการรักษาระดับวิตามินดี 3 ในเลือด [25(OH)D] ให้อยู่ในระดับ มากกว่าหรือเท่ากับ 30 นาโนกรัม/มิลลิลิตร โดยการรับประทานอาหารที่มีวิตามินดี 3 ในระดับสูง เช่น น้ำมันตับปลา ปลาแซลมอน ไข่แดง ร่วมกับการได้รับแสงแดดอย่างเพียงพอจะช่วยทำให้ร่างกายสามารถสังเคราะห์วิตามินดี 3 ในรูปแอคทีฟฟอร์มได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะสามารถช่วยลดการเกิดเนื้อเยื่อพังผืดภายหลังการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อลายซึ่งสามารถพบได้ในนักกีฬาและผู้สูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพ

5. UN SDG ที่เกี่ยวข้อง: SDG3 (Good health and well-being) ผลงานวิจัยเรื่อง Effect of 20-hydroxyecdysone and its metabolites in the absence or presence of IGF-1 on regulation of skeletal muscle cell growth ผู้แต่ง Suhatcho K, Yingyongnarongkul B, Kumpun S, Srikuea R* สรุปผลงานวิจัยโดย รศ.ดร. รัชกฤต ศรีเกื้อ ภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล: 20-hydroxyecdysone (20E) เป็นสเตียรอยด์ฮอร์โมนที่มีบทบาทสำคัญต่อพัฒนาการและกระบวนการทางชีววิทยาของแมลง นอกจากนี้ 20E สามารถพบได้ในพืชบางชนิดและมีรายงานว่ามีผลทางด้านการเสริมสร้างความแข็งแรงและมวลของกล้ามเนื้อลายในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและมนุษย์ อย่างไรก็ผลดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไรยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด โดยการศึกษาในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าผลของ 20E และสารอนุพันธ์ของ 20E ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการเมแทบอลิซึมในร่างกายไม่ได้มีผลโดยตรงหรือมีกลไกการทำงานแบบเสริมฤทธิ์ร่วมกับ Insulin-like growth factor 1 (IGF-1) ในการควบคุมการเจริญเติบโตของเซลล์กล้ามเนื้อลาย โดยผลของ 20E ที่พบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและมนุษย์น่าจะเกิดขึ้นโดยอ้อมผ่านการกระตุ้นการหลั่ง IGF-1 ที่มีผลโดยตรงต่อการกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์กล้ามเนื้อลาย

6. UN SDG ที่เกี่ยวข้อง: SDG3 (Good health and well-being) ผลงานวิจัยเรื่อง Differential effects of cholecalciferol and calcitriol on muscle proteolysis and oxidative stress in angiotensin II-induced C2C12 myotube atrophy. Physiol Rep. 2024;12(8):e16011. ผู้แต่ง Hirunsai M* and Srikuea R สรุปผลงานวิจัยโดย รศ.ดร. รัชกฤต ศรีเกื้อ ภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล: การฝ่อลีบของกล้ามเนื้อลายที่เกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของระดับแองจิโอเทนซิน II เป็นสาเหตุหนึ่งที่สำคัญที่พบได้ในกลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นโรคเรื้อรัง โดยการศึกษานี้พบว่าโคเลแคลซิเฟอรอล (วิตามินดี 3) สามารถช่วยลดการฝ่อลีบของเซลล์กล้ามเนื้อลายและรักษาสมดุลของปฏิกิริยารีดอกซ์ภายในเซลล์เมื่อได้รับการกระตุ้นด้วยแองจิโอเทนซิน II ได้ อย่างไรก็ตามหากเซลล์ได้รับแคลซิไทรออล (วิตามินดี 3 ในรูปแอคทีฟฟอร์ม) ในระดับสูงร่วมกับแองจิโอเทนซิน II จะส่งผลทำให้เกิดการฝ่อลีบ การสลายโปรตีน และความเครียดออกซิเดชั่นของเซลล์กล้ามเนื้อลายเพิ่มมากขึ้น จากผลการศึกษาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าโคเลแคลซิเฟอรอลและแคลซิไทรออลมีบทบาทที่ต่างกันต่อเซลล์กล้ามเนื้อลาย โดยการได้รับโคเลแคลซิเฟอรอลเสริมน่าที่จะมีประโยชน์สำหรับผู้สูงอายุเพื่อช่วยลดการฝ่อลีบของกล้ามเนื้อลายในสภาวะที่มีระดับแองจิโอเทนซิน II สูง อย่างไรก็ตามการควบคุมระดับของแคลซิไทรออลในเลือดเป็นสิ่งที่สำคัญเพื่อป้องกันการลดลงของมวลกล้ามเนื้อลายในผู้สูงอายุที่มีทั้งระดับแคลซิไทรออลและแองจิโอเทนซิน II สูงกว่าปกติ